จากหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ออนไลน์ วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๔
จัดเป็นอีกพิมพ์ในตระกูล “พระหลวงพ่อเงินวัดบางคลาน” ที่สร้างด้วยเนื้อ “ทองผสม” และนักสะสมให้ความนิยมสูงไม่แพ้ประเภท “รูปหล่อ” คุณค่าราคาจึงไม่แตกต่างกันคือปัจจุบันต้องใช้เงิน “หลายล้าน” จึงมีสิทธิ์ได้ครอบครองสำหรับ “พิมพ์จอบใหญ่” เพราะเป็นเหรียญที่สร้างด้วยวิธี “หล่อโบราณ” และสร้างขึ้นในยุคต้นประกอบกับเป็นพิมพ์ที่ พบเห็นยาก นักสะสมทุกระดับจึงระบุว่าสร้างไว้น้อยกว่าพิมพ์อื่น ๆ อีกทั้งขนาดขององค์พระ ไม่ใหญ่จนเกินงาม และ ไม่เล็กจนเกินไป เรียกว่ามีขนาดที่พอเหมาะกับการอาราธนาขึ้นแขวนคอนั่นเอง
ส่วนที่เรียกว่า “พิมพ์จอบใหญ่” ก็เนื่องจากรูปทรงองค์พระมีลักษณะที่คล้าย “จอบ” ที่ใช้สำหรับขุดดินโดยมีรูป “หลวงพ่อเงิน” ในท่านั่งสมาธิอยู่ภายในกรอบที่ล้อมรอบด้วย “เม็ดไข่ปลา” ส่วน “ห่วง” (หูเหรียญ) ก็เป็นห่วงเชื่อมที่หล่อติดมากับพิมพ์เพื่อใช้ห้อยคอในยุคนั้น ด้านหลังเรียบไม่มีอักขระหรือการจารอักขระแต่อย่างใด และมีการแบ่งแยกออกเป็น “สองพิมพ์” (บล็อก) คือ “พิมพ์มี ป.ปลา” หรือ “พิมพ์เส้นสังฆาฏิแตก” หรือนักสะสมบางคนเรียกว่า “พิมพ์จีวรชิด” ส่วนอีกพิมพ์คือ “พิมพ์ไม่มี ป.ปลา” หรือ “พิมพ์เส้นสังฆาฏิไม่แตก” หรือนักสะสมบางท่านเรียกว่า “พิมพ์จีวรห่าง” ซึ่งวันนี้ขอนำ “พิมพ์มี ป.ปลา” มาชี้จุดสังเกตที่ควรจดจำก่อนดังนี้
- “หูเหรียญ” ที่หล่อติดมากับพิมพ์ในองค์ที่หล่อติดดีจะมี “เม็ดไข่ปลา” ปรากฏเฉพาะด้านหน้าเท่านั้นและขอบเหรียญจะมี “เม็ดไข่ปลา” ล้อมรอบตลอดแนว
- “ศีรษะ” กลมมน “หน้าผาก” โหนกนูน “ใบหน้า” ยาวรีปรากฏ หู ตา จมูก ปาก ชัดเจน
- “ผ้าสังฆาฏิ” ปรากฏ “เส้นพิมพ์แตก” ทั้งด้านบนและด้านข้าง (ใกล้รักแร้) โดยเส้นพิมพ์แตกนี้มีลักษณะคล้ายตัวอักษร “ป.ปลา” จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อพิมพ์ว่า “มี ป.ปลา” หรือ “เส้นสังฆาฏิแตก”
- “แขนขวา” ที่วางในลักษณะแบบ “แขนหักศอก” ปรากฏร่องตรง “ข้อศอก” อย่างชัดเจนและ “มือ” ทั้งสองข้างที่ประสานกันจะมีร่องขั้นตรงกลาง เป็นการแบ่งแยกมือซ้ายกับมือขวาอย่างชัดเจน
- “ชายจีวร” ในพิมพ์ “มี ป.ปลา” เส้นล่างสุดจะชิดติดกันจึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อพิมพ์ว่า “ชายจีวรชิด”
- “เส้นขอบ” ที่กั้นเม็ดไข่ปลาด้านล่างขวาองค์พระ “ปลายเส้น” จะแตกหายเข้าไปใต้เท้าซ้าย
- “ด้านหลัง” เรียบไม่มีอักขระหรือการจารอักขระแต่อย่างใด.
‘พุทธธัสสะ’